หน้าเว็บ

Powered By Blogger

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

สวนพิเศษ: ดูแลพืชต้องห้าม (กัญชา) อย่างไรภายใต้ระบบโรงเรือน

ดูตัวอย่างพัฒนาการและการเจริญเติบโตของต้นกล้า

เช่นเดียวกับหลายๆ ท่าน ที่ไม่มีโอกาสได้เห็นต้นกัญชาแบบเป็นๆ เลยสักครั้ง แถมยังรับรู้กันดีว่าเจ้ากัญชาเป็นพืชที่นิยมนำไปใช้เพื่อการเสพและถูกจัดว่าผิดกฎหมายเสียด้วย การได้ทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้ ในแง่มุมอื่นๆ นับว่าเป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจไม่น้อยครับ อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหรือเผยแพร่ในมุมมองของสารเสพติดนะครับ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ Cannabis sativa L. (ภาพจากวิกิพีเดีย)
สะดุดใจครั้งแรก.. ตรงที่ได้อ่านเรื่องราวของกัญชาในแง่มุมอื่นๆ ทั้งจากคอลัมน์สุขภาพของสำนักข่าว BBC และองค์การอนามัยโลก (WHO) เพราะพบว่า เป็นพืชที่มีองค์ประกอบของสารต่างๆ กว่า 400 ชนิด รวมถึงสารปฏิชีวนะ (antibiotics) คล้ายคลึงกับกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) รวมถึงบทความที่บางท่านได้เขียนไว้ในแง่มุมอื่นๆ (เช่น blogger ของคุณ First on Fire) หรือในประเด็นที่เป็นพืชช่วยรักษาโรค (โดยเฉพาะมะเร็ง!) จากบทความของ อ. ประสาท มีแต้ม (แต่ถ้าสูบบ่อยๆ ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอดแทนหรือเปล่า?)
ลักษณะดอกตัวผู้ (ภาพจากวิกิพีเดีย)


หลังจากนั้น สะดุดใจอีกครั้ง.. ตรงที่ไปเห็นร้านขายสินค้าเกี่ยวกับกัญชากลางเมืองใหญ่อย่าง อัมสเตอร์ดัมนี่สิ ซึ่งมาทราบทีหลังว่าในบางประเทศเค้าจัดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายระัดับ บี (น่าจะซื้อขายได้แต่ต้องควบคุมเป็นพิเศษ??) แถมมีการปลูกในโรงเรือนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ แถมยังโฆษณาว่ามีหลากหลายพันธุ์ เพราะมีการปรับลดความแรงของเจ้าสารออกฤทธิ์ Tetrahydrocannabinol (THC) ในกัญชาให้แตกต่างกัน เพื่อความแตกต่างของรสชาติจากการเสพนั่นเองครับ (เกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมแหล่งจัดจำหน่าย ขอไม่ระบุลิงค์ครับ)

จากข้อมูลใน Wikipedia ทำให้พอทราบได้ว่า กัญชามีแหล่งกำเนิดทั้งจากแถบเอเชียกลางและเอเชียใต้ (แถบอินเดีย และจีน) รวมถึงแถบอเมริกาเหนือและยุโรป แม้มีการถกเถียงทางวิชาการถึงจำนวนสายพันธุ์ แต่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์หลัก คือ Cannabis sativa, Cannabis indica และ Cannabis ruderalis โดยทั่วไปกัญชาเป็นพืชในตระกูลเดียวกับต้นปอและป่าน ลำต้นจึงสามารถใช้ประโยชน์เพื่อทำเส้นใยได้ หรือเรียกว่า helm ส่วนเมล็ดยังสามารถสกัดเป็นน้ำมันได้ด้วย ซึ่งสารเคมีต่างๆ ที่นิยมสกัดไปใช้ในกลุ่ม Cannabinoids จะพบมากในส่วนของดอกเพศเมียนั่นเอง
ลักษณะดอกตัวเมีย (ภาพจากวิกิพีเดีย)

เนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่มีดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือ มีดอกเพศผู้หรือเพศเมียแยกกัน แต่อาจมีลักษณะเป็นต้นกระเทย ซึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และเมียในต้นเดียวกันได้ ทำให้มีการใช้ระบบปลูกภายใต้โรงเรือนควบคุมต้นอ่อนที่อาจได้จากเมล็ดหรือกิ่งชำก็ได้ ไม่ให้เจริญเป็นต้นตัวผู้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีเทคนิคบางประการที่น่าสนใจสำหรับการปลูกและดูแลรักษาเพื่อควบคุมให้เป็นต้นเพศเมียได้ถึง 99% เลยทีเดียว
ลักษณะเมล็ด (ภาพจากวิกิพีเดีย)

โดยทั่วไปการปลูกนับแต่ระยะต้นกล้าถึงเก็บเกี่ยวดอกใช้เวลาประมาณ 8 สัปดาห์ (เริ่มติดดอกช่วง 6 สัปดาห์) การดูแลรักษาในโรงเรือนประการแรก คือ อุณหภูมิควรอยู่ในช่วง 20-25 องศาเซลเซียส และต้องไม่สูงกว่า 30 องศาฯ สิ่งสำคัญต่อมา คือ ความชื้นสัมพัทธ์ควรอยู่ที่ 75-80% เมื่อต้นอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ ลดลงที่ 60-70% จนถึง 45% ในระยะเก็บเกี่ยวดอก ขณะที่แสงไม่ควรเกิน 40,000 lumens/m2 เป็นเวลา 18 ชม/วัน และลดเหลือ 12 ชม/วัน ในช่วงติดดอก เทคนิคสำคัญอีกประการของแสง คือ ช่วงแสงสีน้ำเงินจะมีผลต่อการพัฒนาของดอกเพศเมียได้ดีกว่าช่วงแสงสีแดง ดินและวัสดุปลูกสภาพที่เหมาะต่อการเจริญของดอกเพศเมีย คือ ต้องชื้นเพียงพอตลอดเวลา (ไม่ขัง ไม่แฉะ) มีธาตุไนโตรเจนสูง โพแตสเซียมต่ำ (ให้ปุ๋ยตั้งแต่ระยะต้นกล้า 20-15-15) ในระยะติดดอกอาจเปลี่ยนฟอสฟอรัสสูงแทน (5-20-5) ค่าพีเอชควรเป็นกรดเล็กน้อย (6.0-6.5)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การปลูกและดูแลรักษาต้นกัญชามีความยากตรงที่ต้องดูแลไม่ให้เติบโตกลายเป็นต้นตัวผู้ เทคนิคเหล่านี้นอกจากมีประโยชน์ในการดูแลรักษาแล้ว น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับพืชชนิดอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันและเกิดผลกระทบจากต้นเพศผู้ครับ

สุดท้ายนี้ อยากฝากไว้สักนิดครับ
เมื่อรู้ว่ากัญชามีสารเสพติดก็อย่าไปเสพเลย...แต่ในเมื่อรู้ว่ากัญชาเป็นยารักษาโรคได้ ก็น่าจะให้มีการศึกษาไว้ใช้ประโยชน์เพื่อรักษาโรคต่อไปครับ
แต่ถ้าจะเอามาใช้ตกแต่งอย่างตามรูปข้างล่างนี้ ก็แล้วแต่จะพิจารณานะครับ (ทำไปได้เนอะ)

บอนไซกัญชา (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
ต้นคริสต์มาสกัญชา (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)


วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

สวนต่างแดน: Guangxi ดินแดนแห่งสวนส้ม (เป่ยไห่)

ภาพจากอินเตอร์เน็ต (Asian Citrus)

ปัจจุบันประเทศจีนได้กลายเป็นแหล่งปลูกและผลิตส้มรายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก ผลผลิตกว่า 90% นั้นมาจากพื้นที่ปลูกทางภาคใต้จาก 9 มณฑล หนึ่งในนั้น คือ มณฑลกว่างซี (Guangxi) นั่นเองครับ

จำนวนพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายจากภาครัฐที่ให้การสนับสนุนสาธารณูปโภคต่างๆ ด้านต้นพันธุ์ การปลูก การผลิต การจำหน่าย ฯลฯ เพื่อขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ถึง 1,200 เฮกแตร์ต่อปีเลยทีเดียว ภายในช่วงปี 2011-2015 นี้

สวนส้มแห่งแรกที่จะกล่าวถึง คือ Asian Citrus ซึ่งเป็นสวนเอกชน (นักลงทุนชาวฮ่องกง) รายใหญ่ที่สุดของจีน จากจำนวนสวนส้ม 3 มณฑล (Guangxi, Hunan และ Jiangxi) ครอบคลุมขนาดพื้นที่ปลูกทั้งหมดถึง 100 ตร.กม. หรือประมาณ 6 หมื่นไร่ (เองนะเนี่ย)  

สำหรับ สวนส้มที่ได้ไปเยี่ยมชมมานั้น อยู่บริเวณเขตเมือง เหอผู่ (Hepu) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชายทะเลเป่ยไห่ (Beihai) ทางตอนใต้ของจีนครับ (ขออภัยที่ไม่มีรูปประกอบ) ด้วยขนาดพื้นที่เกือบ 20,000 ไร่ ผมจึงต้องนั่งรถชมสวนในการตระเวณดูส้มสายพันธุ์ต่างๆ และหลากหลายอายุปลูก   
ต้นส้มอายุเพียง 3 ปี

หนึ่งในสายพันธุ์ส้มหาดูยากที่รวบรวมพันธุ์เอาไว้
Dr. Xu ซึ่งเป็นผู้จัดการและดูแลสวนส้มแห่งนี้ กล่าวว่า สายพันธุ์ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และบางส่วนจากออสเตรเลีย เช่น ส้มคั้นน้ำสายพันธุ์ valencia และ navel แต่คนจีนมักนิยมเรียกว่า เซี่ยเฉิง (ส้มที่เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูร้อน) ผลผลิตส่วนใหญ่จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) สำหรับป้อนโรงงานผลิตน้ำส้มบรรจุขวดชื่อดังอย่าง Minute Maid สาขาประเทศจีนครับ และบางส่วนในช่วงฤดูหนาว (ต.ค.-ธ.ค.) สำหรับรองรับเทศกาลตรุษจีนในช่วงหลังปีใหม่  
สายพันธุ์ grapefruit 

นอกจากความพร้อมในด้านการผลิตแล้ว สวนส้มแห่งนี้ยังมีความพร้อมในด้านการวิจัยส้มปลอดโรค การขยายพันธุ์ การจัดการต้นกล้าในโรงเรือน และแปลงรวบรวมสายพันธุ์ส้มต่างๆ ไว้อีกมากมายด้วยครับ (รวมถึงตระกูลส้มโอ และมะนาว) ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงมีทีมงานนักวิจัย คนงาน รวมถึงเครื่องจักรกลต่างๆ สำหรับจัดการสวนจำนวนมาก ซึ่งจัดได้ว่า มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงสำหรับการพัฒนาวงการสวนส้มของจีนให้ก้าวหน้าได้อีกมากครับ

แหล่งปลูกส้มที่สำคัญในกว่างซียังไม่หมดเพียงเท่านี้ โปรดติดตามต่อในเขตกุ้ยหลินและหนานหนิงครับ



วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

สวนต่างแดน: LEDs กับการผลิตกุหลาบในโรงเรือนที่ฮอลแลนด์

แปลงกุหลาบในโรงเรือน
ประเทศฮอลแลนด์ได้ชื่อว่ามีความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีโรงเรือนเพื่อการผลิตพืชปลูกต่างๆ จนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก โดยเฉพาะกลุ่มไม้ดอกซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปีภายใต้การปลูกในสภาพโรงเรือน ขณะที่ ในสภาพธรรมชาตินั้นมักมีสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไม้ดอกเฉพาะช่วงฤดูกาลผลิตเท่านั้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการให้แสงภายในโรงเรือน ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการปลูกไม้ดอกในทางการค้าเป็นอย่างมาก เพื่อทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปีนั่นเอง

จากที่มีโอกาสเยี่ยมชมบริษัท Marjoland ซึ่งมีโรงเรือนสำหรับปลูกกุหลาบคลอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดถึง 20 เฮกแตร์ (ประมาณ 125 ไร่) จึงทำให้กลายเป็นแหล่งผลิตกุหลายรายใหญ่ที่สุดของฮอลแลนด์ เพื่อการจำหน่ายทั้งในประเทศและแถบยุโรป ทั้งๆ ที่บริษัทแห่งนี้ เป็นเพียงธุรกิจภายในครอบครัวเท่านั้นเอง สำหรับการผลิตกุหลาบตัดดอกคุณภาพดีนั้น ทางเจ้าของได้เล่าว่ามีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ Passion ที่มีลักษณะดอกสีแดงเข้ม พันธุ์ White Naomi ลักษณะสีขาวนวล หรือ Sweet Dolomiti ซึ่งมีสีชมพูอ่อน ฯลฯ 

White Naomi
ขณะเดียวกัน ภายในโรงเรือนจะมีการควบคุมความเข้มแสง อุณหภูมิ ระบบน้ำและปุ๋ย (fertigation) ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งแผงหลอดไฟ LEDs (Light-emitting diodes) ตลอดแนวทรงพุ่มต้นกุหลาบอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นกระตุ้นการสร้างตาดอกนั่นเอง โดยพบว่า หากควบคุมการให้แสงจากหลอด LEDs จะทำให้แต่ละต้นมีจำนวนดอกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมงที่ให้แสงเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ยังคงมีข้อจำกัดตรงที่ ศักยภาพในการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต ยังอยู่ภายในช่วงระยะเวลาให้แสงที่ 18 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น (เพราะพืชยังต้องการช่วงมืด หากให้แสงมากกว่านั้น ย่อมสิ้นเปลืองต้นทุนด้วยนั่นเอง)
LEDs ในแถวกุหลาบ

นอกจากนี้ ได้มีการติดตั้งเครื่องคัดขนาดดอกจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยเครื่อง สำหรับคัดตามขนาดของก้านดอก ทำให้สามารถคัดเลือกได้อย่างรวดเร็วและตรงตามเกณฑ์คุณภาพ จากขั้นตอนตรงนี้ มีการใช้แรงงานคน เพียงขับรถรางบรรทุกกุหลาบที่เพิ่งตัดดอกเสร็จมาวางไว้ตรงแท่นของเครื่องมือ จากนั้นเครื่องมือเหล่านั้นก็จะคัดขนาดและลำเลียงไปตามสายพานโดยอัตโนมัติ ระหว่างนี้จะมีคนงานแถวละ 1 คน คอยสังเกตและสุ่มคัดเลือกดอกที่ไม่สวยงามออก ก่อนจะนำไปบรรจุจำหน่ายต่อไป

เครื่องคัดแยกขนาดดอก
ดังนั้น การควบคุมความเข้มแสงโดยใช้หลอด LEDs ได้มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตกุหลาบเป็นการค้า จึงเห็นได้ว่า LEDs ได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ทางผู้ผลิตได้นำมาใช้เพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพผลผลิต แม้ว่าจะยังมีราคาสูงก็ตาม แต่ในอนาคตอันใกล้ทางผู้ผลิตมั่นใจว่า เทคโนโลยีนี้จะมีราคาต่อหน่วยต่ำลงแน่นอน