หน้าเว็บ

Powered By Blogger

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

สวนพิเศษ: รักษ์เฟิร์นด้วยสวนยาง

เดี๋ยวนี้หลายๆ คน อยากมีสวนยางพารา เพราะราคายางดี ขายน้ำยางสดได้ ไม่ต้องเสียเวลาทำยางแผ่นเพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนก็ได้ (นอกจากจะเสียเวลาตากแดด ตากลมนาน ไหนจะต้องดูคุณภาพอีก...ไม่ดำ ไม่ไหม้ ไม่เกรียม ไม่แหว่ง ฯลฯ แถมยังเสี่ยงต่อการถูกขโมยยางแผ่นอีกสารพัด)

ตีนนกยูงเจริญอยู่ใกล้ๆ โคนต้นยางพารา
หลายๆ คนรักทำสวนยาง เพราะ โตไว 7 ปีก็กรีดได้แล้ว ราคาดีหน่อยก็ 6 ปีกรีด ใจร้อนหน่อย 5 ปีกว่าก็เอาสักหน่อยหละว๊า (โดยเฉพาะช่วงราคาเกินร้อยต่อกิโล) ยิ่งปลูกยิ่งรัก ยิ่งรักยิ่งขยันเอาใจใส่ ดูแลใส่ปุ๋ยอย่างดี หญ้าก็ตัด (หรือถาก) จนเตียนโล่ง ทำให้สวนยางเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่เป็นสวนเชิงเดี่ยว คือ ปลูกแต่ยางอย่างเดียว ถ้าไม่นับพืชปลูกอื่นๆ ที่ำนำมาปลูกร่วม จึงมักต้องถูกกำจัดทิ้งไป

กระแตไต่ไม้บนคาคบต้นยางพารา





ในสภาพสวนยางพารานั้น จะมีสภาพอากาศค่อนข้างชื้น แสงแดดไม่จัด จึงมักเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชกลุ่มเฟิร์นหลากหลายชนิด

จากการสำรวจในสภาพสวนยางทั่วๆ ไป (ทางภาคใต้) นั้น พบว่า มีมากถึง 10 ชนิด 8 สกุล จาก 6 วงศ์ โดยเฉพาะเกล็ดนาคราช และลิเภายุ่ง จะพบเห็นได้มากที่สุด
เกล็ดนาคราชเกาะบริเวณลำต้นยางพารา












อย่างไรก็ตาม ในด้านจำนวนและชนิดอาจแตกต่างกันได้ตามถิ่นอาศัยของเฟิร์น ซึ่งอาจจำแนกได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเฟิร์นที่เจริญได้ดีบริเวณลำต้นหรือคาคบของต้นยางพารา เช่น กระแตไต่ไม้ ว่านงูกวัก เกล็ดนาคราช ฯลฯ


ลิเภายุ่งแตกใบสวยงามในสวนยางพารา



และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มเฟิร์นที่เจริญบริเวณพื้นดินใกล้โคนต้นหรือระหว่างแถวยางพารา เช่น กลุ่มเฟิร์นในวงศ์ลิเภา เฟิร์นก้านดำใบนวล สามร้อยยอด ตีนนกยูง เป็นต้น

เฟิร์นก้านดำใบนวลระหว่างแถวยางพารา

นอกจากพืชกลุ่มเฟิร์นแล้ว ในสภาพสวนยางพารายังมีความเหมาะสมต่อการเติบโตของกลุ่มกล้วยไม้และตระกูลปาล์มบางชนิดอีกด้วยนะครับ




แสดงให้เห็นว่า นอกจากพืชกลุ่มเฟิร์นแล้ว เราอาจพบพืชพรรณต่างๆ ได้แตกต่างกันไป ในแต่ละสวนหรือแต่ละพื้นที่ด้วยครับ

ลองหาโอกาสเดินดูบริเวณสวนยางพารานะครับ คุณจะได้เห็นเฟิร์นสวยงามหลากหลายชนิด นอกเหนือจากที่นำมาให้ดูกันครั้งนี้

ที่สำคัญ สภาพสวนยางพาราจึงน่าจะรับไว้พิจารณาเพื่อมีส่วนช่วยอนุรักษ์เฟิร์นหรือจะเป็นแหล่งขยายพันธุ์เฟิร์นก็น่าจะดีไม่น้อยนะครับ

เฟิร์นสามร้อยยอดระหว่างแถวยางพารา